วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
ทำไม ถึงต้องใช้ระบบ 4x4 เป็นระยะ
ทำไม ถึงต้องใช้ระบบ 4x4 เป็นระยะ
มีใครบ้างไหมที่ซื้อรถขับเคลื่อนสี่ล้อมาแล้วไม่เคยใช้ระบบ “ขับสี่” เลยแม้แต่ครั้งเดียว เชื่อเถอะว่าต้องมีแน่ๆ เพราะชีวิตร้อยทั้งร้อยวิ่งอยู่แต่บนทางดำเท่านั้น แต่ที่ออกรถ 4x4 มาก็เพราะว่าอยากตามสมัย เห็นเขานิยมกันก็เลยตาม แห่ไปซื้อกับเค้าบ้าง พวกที่ขับไม่ได้ ใช้ไม่เป็นก็มีอยู่เยอะ บางคนยังคิดว่าไม่ใช้ก็ดี เพราะไม่มีทางเสียแต่กลับไม่รู้ว่านั่นเป็นการทำลายระบบขับเคลื่อนสี่ล้ออย่างไม่รู้ตัว
ไม่ว่าจะเป็นรถขับเคลื่อนสี่ล้อแบบตรวจการณ์หรือกระบะ 4x4 จะเป็นแบบ Full Time หรือ Part Time ก็ตาม เป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามหาทางใช้การขับเคลื่อนสี่ล้อบ้างเมื่อมีโอกาส ตามหลักสากลแล้วเขาบอกให้ใช้ อย่างน้อยประมาณ 20 กม. ต่อเดือน แต่ในสถานการณ์จริงแค่เดือนละครั้งเอาไปวิ่งให้มีการทำงานบ้างก็ยังดีกว่าไม่ใช้มันเลย ทั้งนี้เนื่องมาจากว่าการทำงานของระบบจะเป็นตัวที่ทำให้ชิ้นส่วนภายในมีการเคลื่อนไหวและได้ รับการหล่อลื่น สำหรับพวก SUV แบบ Full Time ซึ่งถ่ายทอดกำลังอัตโนมัติยังพอมีโอกาสให้ล้อทั้งสี่ได้ออกกำลังบ้าง แต่พวก Part Time ซึ่งมักเป็นกลุ่มกระบะเป็นส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้ใช้งานเลย เมื่อชิ้นส่วนภายใน ไม่ว่าจะเป็นเฟืองท้าย (ลูกหน้า) หรือ ระบบล็อคเพลาขับล้อหน้าไม่มีการทำงานเป็นเวลานานมากเข้าก็จะเกิดการติดขัดเฟืองท้ายเกิดเป็นตามด เกิดสนิมกับชิ้นส่วนหรือเศษดินโคลน ความสกปรกเข้าไปก่อความเสียหายในระบบจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ไม่คาดฝัน เฟืองท้ายรถรุ่นใหม่หรือตัวออโตล็อคฮับก็ไม่ใช่ถูกๆ รถหลายคันเลยเปลี่ยนมาเล่นกับแมนน่วนฮับแทน แต่ก็ยังต้องหมั่นทำความสะอาดและหล่อลื่นใช้งานบ้างอยู่ดี
ในกลุ่มรถ “ขับเคลื่อนสี่ล้อ” ที่เป็น SUV แบบ Full Time จะมีการแบ่งกำลังขับไปยังล้อหน้ากับล้อหลังในอัตราส่วนที่เหมาะสม ซึ่งสัมพันธ์กับแรงเสียดทานระหว่างล้อกับผิวถนนโดยอัตโนมัติ รถ SUV บางคันก็เป็นขับสี่ แบบ “ไม่แท้” หรือ “Real Time 4WD” คือขับล้อหน้าแบบเพียวๆ พอเวลาเข้าโค้ง ทางเปียกลื่น เกิดอาการล้อฟรีสลิป เมื่อไหร่ค่อยกระจายแรงขับไปช่วยที่ล้อหลังอันนี้ก็เป็นขับสี่อีกแบบหนึ่ง แต่กลับกลุ่ม Part Time ซึ่งปัจจุบันมีเห็นทั้งแบบปรับได้ด้วย “ปุ่มกด” หรือ “ลูกบิด” และแบบตั้งเดิมทีเป็น “คันเกียร์” ตลอดจน SUV ทันสมัยที่เดี๋ยวนี้นอกจากขับสี่แบบ Auto แล้วยังสามารถ “ล็อค” ให้ตะกายสี่ล้อแบบตลอดเวลาเหมือน Part Time ซึ่งมีจุดทรานสเฟอร์เกียร์แบบ H (High) และ L (Low) ให้ใช้งานพวกหลังนี่ควรจะให้ความสำคัญกับการใช้ระบบขับเคลื่อนมากขึ้น
อย่างที่รู้กันว่าเดี๋ยวนี้การปรับการขับเคลื่อนจากสองล้อ (2 H) เป็นสี่ล้อ 4H (High) สามารถทำได้โดยไม่ต้องหยุดรถอันเป็นลักษณะ Shift-on-the-Fly ด้วยความเร็วที่ไม่สูงเกินกำหนดจากโรงงานไม่ว่าจะเป็นการกด การบิด หรือการยัดเกียร์ ทรานสเฟอร์ ในเกียร์ขับสี่ความเร็วสูงนี้จะทำให้การขับขี่มีความมั่นคงกว่าในทางเปียกลื่น ทางโค้ง ขรุขระ เนินชัน หรือดินโคลนที่ไม่วิบากนักและเมื่อจำเป็นต้องใช้กำลังสูงเพื่อปีนไต่ทางชัน หรือทางดินโคลนอันเป็นทางวิบากยิ่งขึ้น ก็จะต้อง “หยุดรถ” เพื่อเปลี่ยนเกียร์ทรานสเผอร์เป็น 4 L (Low) และเคลื่อนตัวเดินหน้าประมาณ 1 เมตร เพื่อให้ Auto Lock Hub จับตัวเสียก่อน เกียร์นี้ไม่ควรใช้ความเร็วในการขับเคลื่อน และเมื่อเลิกการใช้งานก็ปรับเปลี่ยนเกียร์หลังเพื่อปลดล็อคล้อหน้า ส่วนรถที่ใช้แมนน่วลฮับต้องหมุนบิดที่ตัวล็อคเอาเองก่อนการขยับถอยหลัง
ทั้งหมดนี้จำเป็นอย่างที่ผู้ใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ “ต้องศึกษาจากคู่มือประจำรถ” เพื่อการปฎิบัติที่ถูกต้อง วันหยุดหรือวันว่างครั้งต่อไปก็เอารถไปออกกำลัง “ขับสี่” กันบ้าง อาศัยเส้นทางลูกรัง กรวดหิน ทราย หรือทางที่กำลังก่อสร้างก็ได้ แล้วจะได้สัมผัสการขับขี่ที่เปลี่ยนไปอีกลักษณะหนึ่ง ระบบการทำงานขับเคลื่อนสี่ล้อจะได้ทำงานและมีอายุยืนยาวขึ้น รวมทั้งยังเอาไปคุยได้อีกว่าซื้อรถ 4x4 มาก็เคยใช้งานแล้ว วุ้ย...!
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)